ท่องแดนภารตะ..ตามรอยพระบาทพระพุทธเจ้า (1)



เราได้มีโอกาสไปเที่ยวประเทศอินเดีย ดินแดนที่ใครหลายคน ขอเป็นตัวเลือกสุดท้ายในการไปเยือนต่างประเทศ แต่เมื่อใดก็ตามหากได้มาเยือนสักครั้ง ก็มักจะอยากกลับไปอินเดียอีกอยู่ร่ำไป เราเป็นอีกหนึ่งคน ที่หลงใหลในดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ ดินแดนแห่งความหลากหลายทั้งทางขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรม การได้มาพบ มาเห็น ในวิถีชีวิตของผู้คน ที่ต่างเชื้อชาติ ศาสนา เป็นประสบการณ์ชีวิต ที่เกินคำบรรยายจริงๆ และเหนือสิ่งอื่นใด ประเทศอินเดีย เป็นดินแดนแห่งการกำเนิดของพระศาสดา ของศาสนาพุทธ ชาวพุทธอย่างเรา จึงถือโอกาสนี้เดินทางไปน้อมเศียรถวายอภิวาทบูชา ตามรอยพระบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้..สักครั้งหนึ่งในชีวิตของการเป็นชาวพุทธ สักครา...



เราเดินทางมากับสายการบินไทย ลงที่สนามบินนานาชาติอินทิราคานธี เมืองเดลลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย จากนั้นเดินทางต่อไปเมืองคยาหรือกายา ด้วยสายการบินอินเดีย ทันทีที่มาถึงท่าอากาศยานกายา เราได้รับการต้อนรับด้วยความหนาวที่ระดับ 10-11 องศาเซลเซียส ฟ้าปิด พระอาทิตย์ต้องหลบอยู่ภายใต้หมอกหนา โชคดีที่นักบิน สามารถนำเครื่องลงได้อย่างปลอดภัย



ท่าอากาศยานเล็กๆแห่งนี้ ส่วนใหญ่จะใช้ต้อนรับผู้แสวงบุญชาวพุทธทั่วโลก ที่ต้องการมาสักการะสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ณ ต้นศรีมหาโพธิ์พุทธคยา รวมถึงคณะของเราด้วยเช่นกัน

เมืองคยา ตั้งอยู่ในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งรัฐพิหารนี้ ถูกจัดให้เป็นรัฐที่ยากจนที่สุดของประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลอดเส้นทางการเดินทาง จะเต็มไปด้วยธรรมชาติเรือกสวนไร่นา ที่มีให้เห็นตลอดสองข้างทาง แม้เราเข้ามาสู่ใจกลางเมือง ก็ยังมองไม่เห็นความศิวิไลท์ ถนนหนทางขรุขระ เลอะเทอะ บ้านเรือนหลังเล็กๆ แออัดหนาแน่น ที่นี่ต้อนรับเราด้วยเสียงแตรรถยนตร์ ดังสนั่นหวั่นไหว ตลอดเวลา การปีบแตรรถ ใส่กันและกัน เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่นี่ แม้ในยามดึกดื่นเสียงแตรก็ยังด้งอยู่ตลอด นี่เป็นสิ่งแรกๆ ที่ต้องเตรียมใจ เมื่อมาเยือนประเทศนี้





เช้านี้ เราเดินทางไปเมืองราชคฤห์ ไปขึ้นเขาคิชฌกูฏ เพื่อไปกราบนมัสการกุฎิพระพุทธองค์ บนยอดเขา ระหว่างทางมีหมอกลงจางๆ วันนี้พระอาทิตย์ยังคงหลบอยู่หลังสายหมอก เหมือนเช่นเมื่อวาน จากเมืองคยา ไปเมืองราชคฤห์ ระยะทาง 75 กิโลเมตร แต่รถใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงเต็ม

วันนี้เป็นวันแรกที่เราได้สัมผัสความเป็นคนอินเดียอย่างแท้จริง นั่นคือการที่ได้ใช้ห้องน้ำ ตามท้องทุ่ง สมดังคำร่ำลือ อันเนื่องมาจากตลอดเส้นทางการเดินรถ ไม่มีห้องน้ำ ให้ใช้ ดังนั้น เมื่อเรามีทุกข์ ก็ต้องจอดตามข้างทาง ท่ามกลางแมกไม้ข้างทาง ที่นี่คือห้องน้ำของเรา นั่นเอง โชคดี ที่คณะของเรา ได้จัดเตรียมผ้าถุงทรงเกาหลีไว้แล้ว ดังนั้นเช้านี้ถึงจะทุลักทุเล แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี...555



เมื่อมาถึงทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ สิ่งแรกที่เราเห็นคือ กระเช้าลอยฟ้าตามสไตล์ของอินเดีย ลอยไปส่งผู้คนบนยอดเขาที่อยู่ไม่ไกลจากเขาคิชฌกูฏมากนัก คนอินเดียต่อแถวรอคอยขึ้นกระเช้ากันยาวเหยียด เรียกว่าเป็นสถานที่ยอดฮิต สำหรับการท่องเที่ยวอีกที่หนึ่งก็ว่าได้





เราเดินทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ ด้วยการเดินด้วยสองเท้า ทางขึ้นเขาเป็นบันไดก่ออิฐอย่างดี ไม่ชัน สามารถเดินขึ้นเขาได้อย่างสบายๆ แต่หากเป็นผู้สูงอายุมากๆ หรือผู้พิการ ที่อาจเดินขึ้นไม่ไหว ก็จะมีเสลี่ยงบริการ คันละประมาณ 700 รูปี



การเดินทางตามรอยพระพุทธเจ้า จะมีพระธรรมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสายพุทธภูมิ เป็นผู้บรรยายพุทธประวัติ และนำสวดมนต์ภาวนา และปฏิบัติธรรมตลอดเส้นทาง



เส้นทางตามขั้นบันได แต่ละขั้นจะถูกจับจอง โดยชนชั้นวรรณะต่ำ นั่งขอทานตลอดเส้นทาง เมื่อเราเดินผ่าน ก็จะส่งเสียงร้อง "มหารานี ๆ" และถ้าเป็นผู้ชายเดินผ่าน ก็จะเรียก "มหาราชา ๆ" เป็นการสรรเสริญ เพื่อแลกกับเศษเงิน เส้นทางนี้จึงเต็มไปด้วยเสียง ..มหาราชา มหารานี ... ดังตลอดเส้นทาง



การเดินทางครั้งนี้ จึงเหมือนการเดินทางผ่าน เส้นทางชีวิต ได้พบเห็นผู้คน ในวรรณะจัณฑาล ชนชั้นล่าง ที่ดำเนินชีวิต ด้วยการขอทานจากผู้คน



เส้นทางชีวิตสายนี้ จึงเต็มไปด้วยเรื่องราว ที่มองไปครั้งใด ก็จะเกิดความรู้สึกที่ยากจะพรรณา มีทั้งสงสาร สังเวช เวทนา ฯลฯ คละเคล้ากันไป



แม้นเลือกเกิดได้ ก็ขออย่าให้ได้มาเกิด เป็นคนวรรณะจัณฑาล ในประเทศนี้ ความคิดนี้ คงเกิดขึ้นกับผู้คน ที่เดินผ่านเส้นทางสายนี้



แต่กระนั้น ภาพวิวทิวทัศน์ระหว่างทาง ก็ช่วยทำให้หัวใจเบิกบาน ชุ่มชื่นขึ้นมาได้ หุบเขา ยังคงมีป่าไม้ปกคลุมอยู่มากมาย ...



นอกจากนี้ตามเส้นทางเดิน ยังมีการวางขายของ โดยเฉพาะพวกสมุนไพรท้องถิ่น มีวางขายให้เห็นเป็นระยะๆ



เมื่อเดินไปถึงบริเวณชั้นบน เราต้องลอดผ่านผ้ายันต์หลากสี นับร้อยล้านผืน ที่ผู้คนพากันมาอธิษฐานขอพร พระผู้มีพระภาคเจ้า มากมาย



และนี่คือบันไดช่วงสุดท้าย ก่อนที่จะถึงยอดเขา อันเป็นที่ตั้งของกุฎิพระพุทธเจ้า ผ่านบันไดนี้ไป เราก็จะได้นมัสการกุฎิพระพุทธองค์บนยอดเขา



บนยอดเขาคิชฌกูฏ พวกเรากราบนมัสการกุฎิพระพุทธเจ้า สวดมนต์ภาวนาให้พระพุทธองค์ ผู้คนที่ได้มายืนอยู่บนยอดเขาแห่งนี้ ต่างอธิษฐานขอพร เราขอให้การเดินทางครั้งนี้ ราบรื่น ปลอดภัย และ ขอให้เดินทางกลับประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ...



จากยอดเขามองเห็นวิวทิวทัศน์ 360 องศา ชัดเจน เราสูดลมหายใจเข้าปอด ให้ลึกที่สุด อากาศบนนี้ บริสุทธิ์จริงๆ ตามรอยเบื้องพระบาทพระพุทธองค์ สถานที่แรกสำเร็จแล้ว...



ชาวอินเดีย ที่นับถือศาสนาฮินดู จำนวนไม่น้อย ที่ชอบขึ้นมาบนยอดเขา เพื่อขอพรจากพระพุทธเจ้า เช่นกัน ชาวฮินดู ต่างก็นับถือพระพุทธเจ้า โดยมีความเชื่อว่า พระพุทธองค์เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง ที่จะช่วยปกปักษ์รักษาพวกเขาได้



เข้าใจว่า เป็นร่องรอยการทำพิธีกรรมของชาวฮินดู วิธีการเคารพสักการะ แตกต่างกันไป ตามความเชื่อ ของแต่ละชนชั้น แต่ละศาสนา...




เมื่อเราเดินทางกลับ เส้นทางชีวิต บันไดสายเขาคิชฌกูฎแห่งนี้ ยังคงมีเรื่องราวชีวิต ให้ได้เห็นตลอดเส้นทาง



หลากหลายอิริยาบถ ของชนชั้นจัณฑาลเหล่านี้




และผู้เฒ่าคนนี้ ก็มายืนส่งคณะของเรา ตรงบันไดทางขึ้นรถบัส พร้อมทั้งแบมือ ขอสตางค์ ... ชนชั้นเหล่านี้ อยู่คู่กับประเทศอินเดีย ตั้งแต่บรรพกาล จนถึง ปัจจุบัน...



จากนั้นเราเดินทางไปชม วัดเวฬุวนาราม วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวายพระพุทธองค์ วัดแห่งนี้เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประชุมพระสาวก โดยมีพระภิกษุสงฆ์เดินทางมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ในวันเพ็ญเดือน 3 อันเป็นที่มาของ "วันมาฆบูชา" นั่นเอง




นอกจากชาวพุทธทั่วโลก ที่มานมัสการ ปัจจุบันวัดเวฬุวันฯ จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง ของชาวอินเดีย



ชาวพุทธอย่างเรา เมื่อมาถึงก็น้อมจิต สวดมนต์ ภาวนา วันที่เราไป มีทั้งชาวพุทธจากประเทศไทย ประเทศทิเบต ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ



ท่านพระมหาประภาส ปริชาโน พระธรรมวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิสายพุทธภูมิ พระอาจารย์เรียนหนังสือและอยู่ในประเทศอินเดียมาเป็นเวลา 8 ปี เป็นผู้บรรยายพุทธประวัติ และนำสวดมนต์ภาวนา ให้กับคณะของเรา พระอาจารย์ประภาสฯ บรรยายพุทธประวัติได้อย่างลึกซึ้ง จนทำให้หลายๆ ครั้ง พวกเราสามารถรำลึกนึกถึงเหตุการณ์ เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้า ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้พระอาจารย์ ยังมีงานเขียนเป็นหนังสืออีกหลายเล่ม หนึ่งในนั้น ชื่อว่า " มองพุทธให้เข้าใจ ใน 5 นาที " มีวางขายตามร้านหนังสือนายอินทร์ , ซีเอ็ด ฯลฯ พวกเราโชคดี ที่ได้พระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นวิทยากร



หลังการสวดมนต์ภาวนา บูชาพระพุทธองค์ ชาวพุทธก็จะทำการติดทอง อธิษฐาน ทุกครั้ง



ภาพสัญญลักษ์พระธรรมจักร ตรงรั้วประตูทางเข้า-ออก ศิลปะแนวพุทธศิลป์ มีให้เห็นตลอดเส้นทาง



สุดท้ายก่อนอำลาจากวัดเวฬุวนาราม พวกเรา ก็ร่วมกันถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ณ วัดแห่งนี้ คณะผู้ร่วมเดินทางทั้งหมด มาจาก จ.สงขลา พวกเราส่วนใหญ่จะเป็นคุณครู ผู้เกษียณอายุราชการ และกลุ่มชมรมผู้สูงอายุ ในตอนหน้า พวกเราจะไปเยือน มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของโลก ที่เคยรุ่งเรือง และ ยิ่งใหญ่เมื่อพันปีมาแล้ว อย่าลืมติดตามนะจ๊ะ...

แสดงความคิดเห็น

Related Posts with Thumbnails