มหาวิทยาลัยนาลันทา..ตามรอยพระบาทพระพุทธเจ้า (2)


หลังจากที่ได้ไปกราบ นมัสการกุฎิพระพุทธเจ้า ที่เขาคิชฌกูฎ เมืองราชคฤห์ ตามรอยพระบาทพระพุทธเจ้าตอนที่ (1) ในวันนี้ เราเดินทางจากเมืองราชคฤห์ ไปเยือนมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของโลก ที่เคยรุ่งเรือง และยิ่งใหญ่เมื่อพันปีมาแล้ว เรามาที่นี่เพื่อนมัสการ และน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระสารีบุตรเถระ อัครสาวกเบื้องขวา ผู้เต็มเปี่ยมด้วยคุณความดี จนพระมหากษัตริย์ได้สร้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้ บูชาถวาย และที่เมืองนาลันทาแห่งนี้ เป็นที่ที่พระพุทธเจ้า เสด็จไปมาเสมอ... ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เหลือแค่เพียงซากปรักหักพัง คงทิ้งไว้แค่ร่องรอยของความรุ่งเรือง และยิ่งใหญ่ในอดีตไว้ให้ชาวพุทธอย่างเราได้ศึกษาต่อไป...




นาลันทา ( NALANDA) เป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ห่างจากเมืองราชคฤห์ ประมาณ 12 กิโลเมตร แต่หลังจากถูกค้นพบมหาวิทยาลัยนาลันทา โดยท่านนายพลคันนิ่งแฮม เมื่อปี 2403 หมู่บ้านแห่งนี้ก็ถูกยกฐานะให้เป็น อำเภอนาลันทา ในเวลาต่อมา



คำว่า นาลันทา ได้มีการวิเคราะห์ความหมายไว้หลายนัยยะ ด้วยกัน เช่น บ้างก็เชื่อกันว่า นาลัน แปลว่า ดอกบัว ทา แปลว่า ให้ รวมแล้วหมายถึง สถานที่ให้ดอกบัว หรือ หมายความว่า สถานที่แห่งนี้มีดอกบัวขึ้นอยู่มาก , บ้างก็ว่า เป็นชื่อของพญานาค ที่อาศัยอยู่ในสระบัวใหญ่ , บ้างก็ว่า นาลันทา หมายถึง เจ้าแห่งมนุษย์ ฯลฯ




อย่างไรก็แล้วแต่ มหาวิทยาลัยนาลันทาแห่งนี้ ได้ถูกบันทึกไว้ว่า เป็นที่ ที่พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา ใช้เป็นที่ประกาศความเลื่อมใสของตน ต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า อันเนื่องมาจากเมืองนาลันทาเป็นศูนย์รวมนักปราชญ์ นักวิชาการในสมัยพุทธกาล พระสารีบุตรต้องการให้นักปราชญ์เหล่านั้น ได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า นั่นเอง




พระอาจารย์ประพาสฯ ได้บรรยายธรรม ตามคำจารึก ไว้ว่า มหาวิทยาลัยนาลันทา มีวิชาที่เปิดสอน เช่น ปรัชญา , ตรรกศาสตร์ , นิติศาสตร์ , เวชศาสตร์ , โยคะ ฯลฯ ที่สำคัญ นาลันทา เป็นศูนย์กลางการศึกษา ของศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน เป็นที่เลื่องลือ จึงมีนักศึกษาจากต่างประเทศ เช่น จีน , ทิเบต, ญี่ปุ่น , มองโกเลีย ฯลฯ เข้ามาศึกษามากมาย และหนึ่งในนั้น ก็คือ พระถังซัมจั๋ง ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี จากภาพยนต์จีน "ไซอิ๋ว" ได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นเวลาถึง 14 ปี





กำแพงใหญ่โอบอุ้มล้อมรอบ มหาวิทยาลัยนาลันทา และนี่คือประตูทางเข้าสู่มหาวิทยาลัยแห่งนี้



พระอาจารย์ประพาสฯ ได้บรรยาย ถึงความยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ทั้งความใหญ่โตของอาคารสถานที่ ความวิจิตรงดงามของศิลปกรรม กิจกรรมการศึกษาที่เคยรุ่งเรือง ที่นี่เคยมีนักศึกษาถึง 10,000 คน




แต่เดิม มหาวิทยาลัยนาลันทา มีเพียงแค่สถูปองค์หนึ่ง ต่อมากษัตริย์ราชวงค์คุปตะพระองค์แรก ได้สร้างวัดให้เป็นสถานศึกษาขึ้นที่นี่ และต่อมากษัตริย์พระองค์อื่น ในราชวงค์นี้ ก็ได้สร้างวัดในโอกาสต่างๆ เพิ่มขึ้น ในบริเวณใกล้เคียง รวมเป็น 6 วัด และได้มีการสร้างกำแพงโอบล้อมรอบ เรียกว่า นาลันทามหาวิหาร กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ จนเมื่อนักประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบัน ได้ค้นพบ จึงเรียกกันว่า "มหาวิทยาลัยนาลันทา" นั่นเอง



กำแพงใหญ่โอบล้อมรอบ บริเวณวัดทั้ง 6



น่าเสียดาย ในเวลาต่อมา กองทัพมุสลิมเติร์ก รบชนะ กษัตริย์แห่งชมพูทวีป เข้าครอบครองดินแดนแห่งนี้ กองทัพมุสลิมได้เข้าทำลาย เผาผลาญ วัดวา และ ปูชนียสถานทางพุทธศาสนา ทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่ มหาวิทยาลัยนาลันทา แห่งนี้




คงเหลือไว้เพียงร่องรอย ความเจริญ รุ่งเรือง ทิ้งไว้ให้ชาวพุทธอย่างเรา ได้ชมกัน




ยังคงมีร่องรอย ความวิจิตร ของศิลปกรรม ให้ได้เห็นกัน




ปัจจุบัน นอกจากชาวพุทธอย่างเรา ที่เข้ามาชื่นชม ร่องรอยความเจริญรุ่งเรือง ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของโลก ที่นี่ ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของชาวอินเดีย แต่ความรู้สึกที่เข้ามา อาจจะแตกต่างกันไป ตามความเข้าใจ ของแต่ละเชื้อชาติ ศาสนา ก็เป็นได้



อย่างน้อยที่สุด ชาวพุทธอย่างพวกเรา ก็ได้ตระหนัก ถึงความยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของโลก ที่สร้างความภาคภูมิใจ ให้กับพุทธศาสนิกชนอย่างเรา



ชาวอินเดีย เข้ามาร่วมฟัง พระอาจารย์บรรยาย ถึงแม้จะไม่เข้าใจ แต่ก็ให้ความสนใจ ตามนิสัยพื้นฐานของคนอินเดีย เราก็เลยขอถ่ายรูปซะเลย



หนูน้อยน่าตา นารัก คมขำ ตามสไตล์คนอินเดียคนนี้ ก็มาร่วมฟัง ก็เลยถูกถ่ายรูป ไปตามระเบียบ




สองสาววัยรุ่น เดินถ่ายรูป ผ่านมาทางเรา ก็เลยแลกเปลี่ยนกันถ่ายรูป ซึ่งกันและกัน ที่นี่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของชาวอินเดีย ทุกเพศ ทุกวัย จริงๆ



และเมื่อเราเดินออกมา ก็ได้พบกับวิถีชีวิต แบบชาวอินเดีย พาหนะที่เป็นม้า เป็นวัว ยังมีให้เห็นตลอดทาง



และถ้าเป็นรถโดยสาร ก็ต้องแน่นขนัดอย่างนี้ ถึงจะเรียกว่า ประเทศอินเดีย มีคนบอกว่า... การที่พวกเขา ขึ้นรถที่แน่นเบียดเสียด พวกเขาไม่เคยบ่น ไม่เคยว่า และทุกคนยินดี ที่จะให้เพื่อนผู้โดยสารคนอื่นเบียดเสียดขึ้นรถได้อีก ถ้ายังขึ้นได้ พวกเขาอยู่กันได้ รับกันได้ กับสถานะอย่างนี้ เพราะอย่างไรก็ดี มันก็ยังดีกว่าการเดินด้วยสองเท้า... ดังนั้น เราจึงมักพบเห็นสภาพอย่างนี้ อยู่ทั่วไป




แนวคิด การสร้างร้านค้าแบบคนอินเดีย สร้างเป็นเพิงเล็กๆ มีบานประตูปิด ล็อคกุญแจ เวลาเลิกงาน พรุ่งนี้ก็มาขายใหม่ ถ้าหลังคารั่ว ก็หาหิน หากระเบื้องมาทับ มาซ้อน ให้พออยู่ได้...




วิถีชีวิตแบบนี้มีให้เห็นตลอดทาง ขณะที่เรานั่งรถกลับไปยังเมืองคยา



ตลาดสด หรือใจกลางเมือง



สังเกตุดีๆ ตาชั่งแบบอินเดีย เป็นแบบนี้ ตาชั่งไม่มีโกงแบบบ้านเรา...555



และไปที่ไหน ทุกที่ ของประเทศนี้ จะต้องเห็นแบบนี้... เด็กน้อยมาคอยขอเศษเงิน




ฤาพวกเรา จะเป็นคนที่ทำให้เด็กเหล่านั้นนิสัยเสีย อ่านคำเตือนจากป้ายในวัดไทย จะเข้าใจได้ดีว่าเรา ควรปฎิบัติอย่างไร ให้ถูกต้อง.... ในวันพรุ่งนี้ เราจะไปสู่ปริมณฑล ต้นพระศรีมหาโพธิ์พุทธคยา ไปถวายพุทธบูชา ภายใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ในแดนดินพุทธภูมิแห่งนี้ อย่าลืมติดตามนะจ๊ะ..

แสดงความคิดเห็น

Related Posts with Thumbnails