เดินทางสู่พุทธคยา...ตามรอยพระบาทพระพุทธเจ้า (3)



ท่องแดนภารตะ..ตามรอยพระบาทพระพุทธเจ้า (1)
มหาวิทยาลัยนาลันทา..ตามรอยพระบาทพระพุทธเจ้า (2)

สำหรับชาวพุทธอย่างเรา การได้เดินทางสู่..พุทธคยา ดินแดนอันที่เป็นที่ตั้งของ สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ถือได้ว่าเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด ของการเดินตามรอยพระบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ว่าได้ สถานที่แห่งนี้ ชาวพุทธทั่วโลกถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ถือว่าเป็นสะดือของโลก เพราะเป็นที่ซึ่งพระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ที่นี่นั่นเอง...และนอกจากนั้นที่พุทธคยาแห่งนี้ ยังมีพระมหาเจดีย์ศรีพุทธคยา ตั้งสูงเด่นเป็นสง่า อันเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าไปกราบไหว้บูชา...




เช้านี้เราออกเดินทางไป พุทธคยา เพื่อไปสักการะบูชาพระพุทธเจ้า ณ ต้นพระศรีมหาโพธิ์พุทธคยา วันนี้ฟ้ายังคงปิด อากาศค่อนข้างหนาว อุณหภูมิยังอยู่ที่ 10 - 12 องศาเซลเซียส เราต้องเดินทางข้ามสะพานผ่านแม่น้ำเนรัญชรา อันกว้างใหญ่ไพศาล ตามที่เคยได้ยินเสียงร่ำลือมา...



ผู้คนสัญจรไป-มา บนสะพาน เรามองหา แม่น้ำสายใหญ่ ที่ก่อนหน้าที่จะมีสะพานแห่งนี้ ผู้คนที่จะมากราบไหว้บูชา ณ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ จะต้องลุยข้ามแม่น้ำอย่างลำบากลำบน




แต่มาบัดนี้ แม่น้ำเนรัญชรา สายน้ำแห่งการตรัสรู้ เหลือแค่เพียงเม็ดทรายให้เห็น เป็นทุ่งใหญ่อยู่ข้างหน้า เหมือนต้องคำสาปของพระวิษณุ ที่ว่า เมืองคยา เป็นเมืองของอสูร ถ้าเมืองนี้มีแม่น้ำ ก็ขอให้มีแต่ทราย มีหญิงมีชาย ก็ขออย่าให้มีคนงาม มีภูเขาก็ขออย่าให้มีต้นไม้ ฯลฯ




เรายืนบนสะพานแห่งนี้ ไม่เห็นร่องรอยของสายน้ำ สองข้างทางมีแต่ทราย... นี่เป็นฤดูหนาว เมื่อเข้าฤดูฝน สายน้ำคงจะกลับมาเหมือนเดิม




ณ วันนี้ การสัญจรทางเรือ ก็ไม่ต้องพูดถึง สามล้อเท่านั้น ที่ใช้การ ใช้งาน ได้คุ้มค่า สำหรับเมืองนี้



เมื่อเดินทางข้ามผ่านสะพานมา ก็พบตลาดเล็กๆ ณ ตรงนี้ ถือว่าเป็นใจกลางเมือง ผักสดๆ มีวางขายสองข้างทาง ประเทศอินเดีย เป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ทำการเกษตร พืชผักผลไม้จึงผลิตเอง คนที่นี่จึงได้กินของสด ของท้องถิ่น ตามฤดูกาล



แผงขายผลไม้สดๆ น่ากินดีจัง



ผักสดๆ มีให้ได้เลือกซื้อหากัน คนอินเดียส่วนใหญ่ จะกินอาหารมังสวิรัติ ดังนั้น ผักจะมีวางขายมากมาย



เช้านี้ ยังเป็นวันทำการปกติ เด็กๆก็ต้องไปโรงเรียน




แป้งทอดสไตล์อินเดีย บ้านเราอาจหมายถึง ปาท่องโก๋ ก็เป็นได้



เมื่อใกล้ถึงพุทธคยา ผู้คนเริ่มหนาตา มากขึ้นๆ



ทางเข้าสู่พระมหาเจดีย์ศรีพุทธยา คราคร่ำไปด้วยผู้คน ที่เป็นชาวพุทธจากทั่วโลก



เมื่อเราไปถึง พบชาวพุทธทั่วโลกมากมาย ยืนรอเข้าแถวเรียงราย นับร้อย นับพันคน นึกไม่ถึงเลยว่า ชาวพุทธจะมีมากมาย พลังศรัทธา เดินทางมาจากทั่วโลก เพื่อขอน้อมสักการะบูชา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความจริง ตามกำหนดการเดิม พวกเราจะต้องมาที่พุทธคยา ตั้งแต่ตอนเย็นเมื่อวาน แต่ปรากฎว่า พระจากทิเบตเป็นจำนวน 400,000 องค์ เข้ามาทำการสวดมนต์ เต็มพื้นที่ทั้งหมด ก็ไม่นึกว่าเช้านี้ ผู้คนจะยังคงมากมาย... ถึงแม้ผู้คนจะมาก อาจจะไม่ได้รับความสะดวก แต่เราก็แอบภูมิใจ ที่เห็นจำนวนชาวพุทธเพิ่มมากขึ้น




พระมหาเจดีย์พุทธคยา อันเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ สันนิษฐานกันว่าเริ่มต้นสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ถือว่าเป็นศิลปะต้นแบบของสถาปัตยกรรมของอินเดีย ปัจจุบันมีชื่อเรียกว่า วัดมหาโพธิพุทธคยา และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ. 2545 ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม




และเมื่อเป็นสถาปัตยกรรมแบบอินเดีย ก็จะมีการนำเอาเทพเจ้าที่เคารพ เข้ามาประดิษย์ฐานด้วยเสมอ



แสดงให้เห็นถึงความงดงามทางศิลปกรรม




ผู้คนหลั่งใหล นำดอกไม้มาบูชา มากราบสักการะ สถานที่ตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า



พระคุณเจ้าต่างเชื้อชาติ แต่นับถือศาสนาเดียวกัน



และในที่สุด เราก็มาถึง ภายใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ จุดเริ่มต้นของพุทธศาสนา...ได้กำเนิดเกิดขึ้นที่นี่เอง ณ ที่แห่งนี้เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเวลากว่า 2,500 ปี



ปัจจุบันต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นทายาทรุ่นที่ 4 และได้มีการสร้างกำแพงล้อมรอบ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ถูกเหยียบย่ำ หรือถูกบุกรุก จนอาจทำให้ล้มตายได้




ภายใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์อันศักดิ์สิทธิ์ พวกเราสักการะแทบบาทพระศาสดา ถวายเป็นพุทธบูชา



เจริญจิต ภาวนา ด้วยการกระทำสมาธิ ถวายเป็นปฏิบัติบูชา



ชาวพุทธ ที่ร่วมน้อมสักการะในวันนั้น เกิดความรู้สึกรำลึก ถึงพระพุทธเจ้า และเกิดพุทธานุสติ อันจักนำมาซึ่งบุญกุศล เกิดความแช่มชื่นเบิกบาน เกิดแรงบันดาลใจที่จะกระทำความดี.... สถานที่ที่ทำให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าดั่งนี้ จึงถูกเรียกว่า สังเวชนียสถาน ซึ่งสังเวชนียสถาน ก็ประกอบไปด้วย สถานที่ประสูติ , สถานที่ตรัสรู้ ,สถานที่แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพาน นั่นเอง




วันนี้เราได้อิ่มบุญ จากการบูชา สังเวชนียสถานพุทธคยา พระท่านว่าการที่เราได้มากราบไหว้บูชาที่สังเวชนียสถานแห่งนี้ " เราจะได้ปัญญา ความรู้แจ้ง ได้ชัยชนะที่ไม่กลับไปแพ้ "... และสัญญลักษณ์ของการมีปัญญา มีความรู้แจ้ง นั้นก็คือ ใบโพธิ์ที่พุทธคยา ดังนั้น ชาวพุทธจะนิยมซื้อใบโพธิ์ที่พุทธคยา แห่งนี้ กลับไปบูชา หรือนำไปฝาก ญาติสนิท มิตรสหาย หากใครได้รับใบโพธิ์จากพุทธคยาก็เสมือนหนึ่งได้มาบูชา สังเวชนียสถานที่ ต.พุทธคยา นี้ เช่นกัน ในวันพรุ่งนี้ เราจะไปเยือนเมืองพาราณสี ข้ามพรมแดน จากรัฐพิหาร ไปสู่รัฐอุตรประเทศ ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ...อย่าลืมติดตามนะจ๊ะ

Unknown  – (30/1/60)  

สาธุ เพิ่งเปิดอ่านและชอบมากค่ะ บรรยายแบบง่ายๆ แต่สำนวนดีเยี่ยม ขออนุญาตนำสำนวนไปใช้ในการบรรยายนะคะ

แสดงความคิดเห็น

Related Posts with Thumbnails