นครวัด นครธม (2)


จาก นครวัด ในตอนที่ 1 เราเดินทางต่อมายังนครธม เมืองหลวงสุดท้ายของอาณาจักรขอมโบราณ นครธม อยู่ห่างจากนครวัด ประมาณ 1.5 กม. ความแตกต่างระหว่างนครวัด กับนครธมก็คือ นครวัด เป็นปราสาทหิน ที่เป็นศาสนสถาน สำหรับเคารพ บูชา และเป็นเทวาลัย สำหรับเก็บพระบรมศพ ส่วน นครธม เป็น เมืองหลวง หรือบางครั้งเรียกว่า เมืองพระนครหลวง ที่ถูกสร้างอย่างมีระเบียบ แบบแผน และใหญ่โต มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ มีพระราชวัง , บ้านเรือนผู้คน และ โบราณสถานที่สำคัญๆ อยู่ภายในกำแพงเมือง นั่นเอง


นครธม หรือ เมืองพระนครหลวงอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ สร้างความตะลึงให้แก่เรา นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้เห็น ความอลังการ ของซุ้มประตูทางเข้า หรือโคปุระ โดยเฉพาะที่ยอดซุ้มประตู ซึ่งเป็นภาพสลัก ของใบหน้าสี่หน้า ทั้งสี่หน้า และสี่เศียรนี้ หันไปทั้ง สี่ทิศ ดูลี้ลับ และหน้าค้นหา อย่างที่สุด...



ประตูเมือง หรือ ประตูทางเข้า มีทั้งหมด 5 ประตู แต่ละประตู จะมีความสำคัญแตกต่างกันออกไป เช่น ประตูทางทิศตะวันออก คือ ประตูชัย ซึ่งถือเป็นประตูฤกษ์ ประตูชัยสำหรับกองทัพทหารใช้ผ่าน เวลาทำศึกสงคราม เป็นต้น


ประตูเมืองทุกประตู จะประกอบไปด้วยประติมากรรมลอยตัว รูปเทวดาสวมมงกุฎ อยู่ทางฝั่งซ้าย และเหล่ายักษ์อสูร อยู่ทางฝั่งขวา ข้างละ 54 ตน ซึ่งทั้งสองฝ่าย กำลังยื้อยุดฉุดราวสะพาน ซึ่งเป็นลำตัวพญานาค 7 เศียร ตามตำนานการกวนเกษียรสมุทร ปัจจุบันประติมากรรมดังกล่าวได้ชำรุดไปหมดแล้ว เหลือเพียง ประตูด้านทิศใต้ ทิศเดียว ที่ได้รับการบูรณะ ให้มีสภาพสมบูรณ์ ซึ่งประตูทางทิศใต้นี้เอง ที่เป็นประตูสำหรับให้นักท่องเที่ยว ใช้สัญจร ไป-มา เพื่อเข้าชม เมืองพระนคร นั่นเอง


ประติมากรรมลอยตัว อันเลื่องชื่อ ตรงสะพานหิน ทอดข้ามคูน้ำ ก่อนเข้าประตูเมืองทางทิศใต้ ใหญ่โตมาก เมื่อเทียบกับมนุษย์อย่างเรา เป็นราวสะพานที่อลังการที่สุด เท่าที่เคยได้พบเห็นมา


เมื่อผ่านประตูเมืองเข้ามาแล้ว จะพบปราสาทบายน นครธม มี ปราสาทบายน เป็นศุนย์กลางของเมือง สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา ซึ่งในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นี้ ถือว่าเป็นยุคที่พุทธศาสนา ลัทธินิกายมหายาน เจริญสูงสุด นั่นเอง


ปราสาทบายน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ไม่มีกำแพงล้อมรอบ คงถือเอากำแพงเมืองนครธมแทน ล้อมรอบด้วยระเบียงคต 2 ชั้น นครธมนั้น สร้างเมืองเลียนแบบจักรวาล โดยมี ปราสาทบายนเป็นศูนย์กลางจักรวาล เป็นสัญลักษณ์ ของการเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์





ความยิ่งใหญ่อลังการ ของปราสาทบายน อยู่ที่ยอดของหมู่ปราสาท ที่มียอดสูงทะมึนราวกับขุนเขา ที่มีจำนวนยอด ถึง 54 ยอด ซึ่งหมายถึง 54 เมืองใหญ่ในราชอาณาจักร


และทุกยอด คือรูปใบหน้า ขนามหึมา ซึกสลักด้วยหินทรายสีเทา ยอดละสี่หน้า หันออกไปสี่ทิศ ยอดของปราสาทมีทั้งหมด 54 ยอด แต่ละยอดมี 4 หน้า รวมกันได้ 216 หน้า



ทั้งหมดมี 54 ยอด แต่ละยอดรวมกันได้ 216 หน้า จึงเท่ากับว่า มีดวงตาทั้งหมด 432 ดวง ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ เมื่อนำมารวมกัน จะได้เป็นเลข 9 เสมอ 5+4=9 , 2+1+6=9, 4+3+2=9 ซึ่งถือว่าเป็นเลขมงคล ของชาวขอมโบราณ ...สุดยอดจริงๆ


ทุกรูปใบหน้ามหึมานี้ แฝงด้วยรอยยิ้ม เป็นรอยยิ้มที่สร้างความรู้สึกหลากหลายกันออกไป บ้างก็ว่า อ่อนโยนเปี่ยมด้วยความเมตตา บ้างก็ว่า ดูแล้วเยือกเย็นลึกลับ ก็ว่ากันไป ในความคิดของเรา เราว่าเป็นได้ทั้งสองอย่าง รู้สึกได้อย่างนั้นจริงๆ


ทุกใบหน้าบนยอดปราสาท มีนัยน์ตาที่เหลือบต่ำลงมา เหมือนจ้องมองเราอยู่พร้อมๆ กัน และไม่ว่าเราจะยืนอยู่จุดใหน ก็ดูเหมือนว่าสายตาทุกคู่ จะติดตามเราไปตลอดเวลา


ใบหน้าทั้งสี่หน้า ที่หันออกไปทั้งสี่ทิศนี้ ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า เป็นใบหน้าของใคร บ้างก็ว่า เป็นพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร บ้างก็ว่าเป็นพระพักตร์ของพระจตุโลกบาล ผู้รักษาทิศทั้ง 4 บ้างก็ว่าเป็นพระพรหม...


แต่มีอยู่กลุ่มหนึ่ง ที่เชื่อว่า ใบหน้าเหล่านี้ เป็นพระพักตร์ของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ทรงเฝ้ามองราชอาณาจักร และราษฎรของพระองค์ ด้วยเมตตาธรรม ดุจพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่อวตารลงมา เป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 บนโลกมนุษย์ นั่นเอง


รอยยิ้มอันเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่า "ยิ้มแบบบายน" อันเป็นลักษณะเฉพาะ ของศิลปะแบบบายน และที่นี่ ก็คือต้นแบบ ของศิลปะบายน นั่นเอง


จากทางเข้าทางทิศตะวันออก สู่ระเบียงคตชั้นนอกของตัวปราสาท ผ่านซากปรักหักพัง ของโครงสร้าง คงเหลือเพียงเสาสลัก รูปนางอัปสรร่ายรำ ปรากฎให้เห็นเป็นหลักฐาน


ภาพแกะสลักบนเสาหิน เป็นรูปนางอัปสรกำลังร่ายรำ


ภาพแกะสลัก รูปนางอัปสร เป็นเทพธิดาเฝ้าศาสนสถาน แห่งนี้


ตรงระเบียงคตรอบนอกของตัวปราสาท มีภาพสลักตลอดความยาว รวมสี่ด้าน กว่า 1,200 เมตร และภาพแกะสลักที่นี่จะแตกต่างจากที่นครวัด


จากนั้น ไต่บันไดแคบ และสูงชัน ขึ้นไปชมปราสาทหลังกลาง ซึ่งเปรียบเสมือน ปรางค์ประธาน ซึ่งจากจุดนี้ จะสามารถชมพระพักตร์ได้อย่างใกล้ชิด


ร่องรอยของวันเวลาที่ปรากฎ ในรูปราสีหม่นปนตะไคร่น้ำสีเขียวคล้ำเหล่านี้ ล้วนสร้างเรื่องราวให้น่าสนใจ แก่ผู้ชม ที่สนใจในศิลปะขอมโบราณได้เป็นอย่างดี


แม้ปรางค์ปราสาท จะไม่ใหญ่โต อย่างปราสาทนครวัด แต่ก็ให้ความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่อลังการ ดูลี้ลับ ด้วยหมู่ปราสาท ที่มียอดเป็นใบหน้าที่มีรอยยิ้ม ที่อาจจำกัดความได้ต่างๆ นาๆ


เป็นที่น่าเสียดาย ที่บนชั้นยอดสุดของปราสาทหลังกลาง ได้หักหายไป จึงไม่ทราบแน่ชัดว่า ใบหน้าที่อยู่ชั้นยอดสุด มีลักษณะเช่นไร...ทิ้งเป็นปริศนา ให้ค้นหากันต่อไป


สำหรับเหตุผลที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงโปรดให้สร้างเมืองหลวงขึ้นมาใหม่ ก็มีการตีความหลายอย่าง บ้างก็ว่า เป็นเพราะทรงเปลี่ยนความเชื่อ มานับถือศาสนาพุทธ สัญลักษณ์และความเชื่อก็ต้องเปลี่ยนไป จึงทรงมาสร้างเมืองใหม่ ตามความเชื่อใหม่ ไว้อย่างเหมาะสม นั่นเอง



ในตอนหน้า เราจะพาไปชม ปราสาทตาพรหม หรือ ปราสาทแอนเจลีน่า ที่ถูกนำมาใช้เป็นฉากสำคัญ ในภาพยนตร์เรื่อง TOMB RAIDER อันเลื่องชื่อ และกลุ่มปราสาท ที่ถูกทำลายด้วยธรรมชาติ อย่าลืมติดตามนะจ๊ะ


ไม่ระบุชื่อ –   – (16/4/55)  

Wonderful place. Someone said "See Angkor and Die" right?

วิภาพร –   – (18/4/55)  

ถูกต้องแล้วจ๊ะ เข้าใจว่าเป็นคำพูด ของนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่ได้มีโอกาสมาค้นพบ นครวัด นครธม ในครั้งนั้น กลายเป็นวลีเด็ด ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก มาเที่ยวที่แห่งนี้

แสดงความคิดเห็น

Related Posts with Thumbnails