ประเพณีแข่งเรือยาว ที่ จ.สงขลา


... เพื่อนๆ หลายคน คงยังไม่ทราบว่า ที่ จ.สงขลา ก็มีประเพณีการแข่งเรือยาวด้วย... วันก่อนได้มีโอกาส ไปดูแข่งเรือยาว ที่ บริเวณท่าน้ำวัดบางหยี อ.บางกล่ำ สนุกมาก สีสรรของงานที่แท้จริง คงจะเป็นการพากย์ ของพิธีกรสนาม ได้อารมณ์สุดๆ .. พร้อมบรรยากาศเหล่าสาวกกองเชียร์ เราได้นำภาพบรรยากาศบางส่วนมาให้ชมกัน ...ปีนี้ มีการแข่งขัน 3 ประเภท คือ ประเภท 7 ฝีพาย , 9 ฝีพาย และ 12 ฝีพาย ทั้งหมดเป็นการแข่งขัน เพื่อชิงถ้วยรางวัล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เรือที่มาทำการแข่งขัน ก็มาจากหลาย จังหวัด ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ จะเป็นจังหวัดใกล้เคียง เช่น พัทลุง , ปัตตานี ,นราธิวาส เป็นต้น


ถึงแม้ การแข่งเรือยาวที่อ.บางกล่ำ จะไม่ใหญ่โต อย่าง จ.ทางภาคอื่น ของประเทศ เพราะ ยังไม่มีการแข่ง แบบ 53 ฝีพาย แต่ก็ถือว่าเป็นการรักษา ประเพณีเก่าแก่แต่โบราณ เพราะเนื่องจาก อ.บางกล่ำ มีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีลำคลองออกสู่ทะเลสาบสงขลาหลายสาย เช่น คลองอู่ตะเภา คลองท่าเมรุ และคลองบางกล่ำ ในอดีตชาวบ้านใช้เรือเป็นพาหนะ และขนส่งผลิตผลทางการเกษตร และเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก หลังจากออกพรรษาแล้ว ก็จะจัดให้มีประเพณีการแข่งขันเรือ ซึ่งส่วนใหญ่จัดขึ้นในวันทอดกฐิน แต่เมื่อความเจริญเข้ามา ได้มีการสร้างถนน ขึ้นมาหลายสาย ผู้คนก็เริ่มหันมาใช้ รถยนต์ แทนที่เรือ จึงเป็นสาเหตุให้การใช้พาหนะทางเรือค่อย ๆ เลือนหายไป พร้อม ๆ กับการแข่งขันเรือที่ซบเซาลง ที่ อ.บางกล่ำ เพิ่งจะเริ่มรื้อฟื้น เมื่อปี 2539 นี่เอง


ประเพณีแข่งเรือของชาวบางกล่ำ ถือว่าเป็นหน้าตาของจังหวัดสงขลา เพราะการแข่งเรือของภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา มีเรือเข้าร่วมการแข่งขันมากที่สุด ฝีพายที่เข้าร่วมการแข่งขันมีเป็น 1,000 ชีวิต เราก็เป็นคน จ.สงขลา ก็ขอร่วมภาคภูมิใจด้วยเช่นกัน ถ้าหากเพื่อน ๆ ที่มีภมิลำเนา อยู่ที่จ.สงขลา ก็สามารถมาท่องเที่ยว เพื่อชมการแข่งขันได้ ในช่วง เสาร์แรกของเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี

ขอปิดท้าย ด้วยการขอยกคำพูดส่วนหนึ่ง ของท่านประธานในพิธี มาปิดท้าย...ดังนี้ "...ประเพณีและวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้ทราบความเป็นมาและภูมิหลังของชุมชน เป็นเครื่องมือในการค้นหาประวัติศาสตร์ของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ควรที่จะหวงแหนและร่วมมือกันพัฒนาอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป ประเพณีการแข่งขันเรือของพี่น้องชาวอำเภอบางกล่ำ เป็นสื่อที่อธิบายถึงความเป็นมา ภูมิหลัง ประวัติศาสตร์และเป็นมรดกของชาวบางกล่ำในอดีตที่แสดงถึงการใช้ประโยชน์จากเรือและแม่น้ำลำคลอง เป็นบ่อเกิดประเพณีวัฒนธรรม แม้ในปัจจุบันจำนวนเรือจะลดลง การสัญจรทางเรือจะมีน้อย แม่น้ำลำคลองก็ยังเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอีกมากมายหลายด้าน อาทิเช่น การเกษตร การประมง และการรักษาความสมดุลของธรรมชาติ ขอให้ช่วยกันอนุรักษ์เพื่อประโยชน์สำหรับพี่น้องตลอดไป..."

แสดงความคิดเห็น

Related Posts with Thumbnails