ตามรอยอารยธรรม..วัดจะทิ้งพระ วัดพะโคะ วัดพระธาตุ
ช่วงเทศกาลงานบุญเดือนสิบของคนใต้ นอกเหนือจากการที่ลูกหลานคนใต้ จะได้ร่วมทำบุญให้กับ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ก็คือการที่ พ่อแม่ พี่น้อง ได้มาอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ไม่ว่าใคร จะไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ถึงงานบุญเดือนสิบ ก็ต้องกลับมาบ้านให้จงได้ อย่างแน่นอน แต่ถ้าพูดถึงงานนี้ ต้นฉบับที่เป็นแหล่งแห่งต้นแบบอารยธรรม ก็ต้องยกให้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่กล่าวกันว่า ที่นี่จัดงานเทศกาลบุญเดือนสิบ ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคใต้กันเลยทีเดียว เราก็เลยถือโอกาสนี้ ตามรอยอารยธรรม ...สู่เส้นทางวัดพระธาตุ นครศรีธรรมราช เพื่อร่วมงานบุญเดือนสิบที่นครฯ สักครา...
เหมือนทุกครั้ง ที่พอจะเริ่มเดินทางไปไหน ก็ต้องมีอาการตื่นเต้นกันทุกที ความจริง จ.นครศรีฯ ก็ไม่ได้ไกลจากจ.สงขลาสักเท่าไหร่ แต่เราก็ตื่นแต่เช้ามืดผิดปกติ.. ขับรถตอนเช้าเป็นอะไรที่มีความสุขมากมาย เรามาถึง อ.สทิงพระ เกือบๆ 7 โมง แวะกินมื้อเช้า แถวๆหน้าวัดจะทิ้งพระ นั่นเอง
อันเนื่องมาจากคุณสามี เคยบวชเรียนอยู่ที่วัดนี้ ก็เลยตั้งใจว่า จะไปเยี่ยมเยือน กราบนมัสการท่านครูฯ ท่านเจ้าอาวาสวัดจะทิ้งพระ ที่เคยสั่งสอนกันมา เมื่อครั้งสมัยเรียน ตามรอยอารธรรม จึงเริ่มต้นจากวัดนี้เป็นต้นไป
เจดีย์มหาธาตุ โบราณสถานที่สำคัญของวัดนี้ เป็นศิลปะสมัยศรีวิชัย ที่เก่าแก่ และสวยงาม วันที่เราไปเยือน ได้มีการบูรณะ ต้อนรับปีพุทธชยันตี จึงทำให้องค์เจดีย์ ขาวบริสุทธิ์สวยงาม จนคุณสามี ตะลึงกันเลยทีเดียว
ประวัติความเป็นมาของวัด ทำให้รู้ว่า วัดนี้เป็นวัดที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง ของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีร่องรอยของศิลปกรรมที่สำคัญ ภายในวัดหลายแห่งด้วยกัน
เจดีย์พระมหาธาตุ เป็นเจดีย์ทรงลังกา หรือทรงระฆัง แบบเดียวกับเจดีย์พระบรมธาติเมืองนครศรีธรรมราช แต่เจดีย์วัดจะทิ้งพระ ไม่มีรัตนบัลลังก์
สันนิษฐานว่ารูปแบบเจดีย์ ได้รับถ่ายแบบจาก เจดีย์ทรงระฆัง ในศิลปะลังกา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21
และที่สำคัญ ในปีพุทธศักราช 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอลเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เคยเสด็จมายังวัดแห่งนี้ด้วย
คุณสามีไม่รอช้า เดินตรงไปยังกุฎิท่านเจ้าอาวาส ทันที ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แม้นผ่านไป 20 กว่าปี แล้วก็ตาม
โชคดี วันนี้พวกเรามาแต่เช้า จึงได้พบท่านครูฯ ของคุณสามี หรือ ท่านพระครูประสาทศีลพรต ท่านเจ้าอาวาส ปัจจุบันท่านอายุ 98 ปี แล้ว ท่านพระครูประสาทศีลพรต เป็นพระเถระ ที่มีการปฏิบัติธุดงควัตร สันโดษ เป็นกิจวัตร มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย จนเป็นที่เลื่อมใสนับถือศรัทธาของชาวบ้านทั่วไป
คุณสามีเดินย้อนรอย ไปดูกุฏิที่เคยพำนัก เมื่อครั้งบวชเรียนอยู่ที่นี่ ทำให้นึกถึงกิจวัตร เมื่อครั้งนั้นเป็นที่สุด... การได้มาตามรอยอารยธรรมในครั้งนี้ ดูเหมือนจะมีความหมายลึกซึ้ง กินใจ... สำหรับใครบางคนไปแล้ว
จากวัดจะทิ้งพระ ไม่ไกลมากนัก ก็ถึงวัดพะโคะ หรือ วัดพระราชประดิษฐาน ถิ่นกำเนิดหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เคยเป็นเจ้าอาวาส และประจำอยู่ที่วัดแห่งนี้ นี่เอง
เหตุที่ชื่อว่า วัดพะโคะ ก็เพราะวัดตั้งอยู่บนเขาพะโคะ นั่นเอง เดินขึ้นบันได ไม่ทันจะเหนื่อย ก็ถึงตัววัดแล้ว
แต่ถ้าพารถมาเอง ก็ขับตรงไปตามถนน ที่อยุ่ใกล้ๆ ทางขึ้นด้วยบันได ก็สะดวกดี
เจดีย์ หนึ่งในโบราณสถานที่สำคัญ ของวัด มีลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง รองรับด้วยลานประทักษิณสามชั้น
เจดีย์ มีหลักฐานการบูรณะปฏิสังขรณ์ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ต่อมาได้มีการบูรณะ เมื่อปี 2525 โดยเปลี่ยนแปลงรูปแบบบางประการ และเสริมความมั่นคงของเจดีย์
วัดพะโคะคือศูนย์รวมจิตใจประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ รวมถึงชาวต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะด้วยบุญฤทธิ์และพระบารมีของสมเด็จเจ้าพะโคะ หรือหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
วิหารพระพุทธไสยาสน์ หนึ่งในโบราณสถานที่สำคัญของวัด
พระพุทธรูป ปางไสยาสน์ ประดิษฐานอยู่กลางวิหาร
พระพุทธไสยาสน์ ยาว 18 เมตร โดยฝีมือช่างท้องถิ่น
วัดพะโคะ เป็นวัดที่มีความสำคัญต่อชุมชนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้เป็นสถานที่กระทำพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา...
นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีโบราณสถาน และ โบราณวัตถุล้ำค่าอีกมากมาย
ศิลปกรรมแนวพุทธศาสนา ที่วัดพะโคะ
วัดพะโคะ ตั้งอยู่บนเนินเขา สามารถชมวิวทิวทัศน์ของ เมืองสทิงพระ ได้ยาวไกล ต้นโตนด โดดเด่นอยู่ล้อมรอบเนินเขา เป็นที่มา ของผลิตภัณฑ์ของฝากมากมาย จากเมืองนี้...
เราเดินทางออกจากวัดพะโคะ เป้าหมายต่อไป คือ วัดพระธาตุ...
เส้นทางไปสู่ นครศรีธรรมราช ช่วง อ.ระโนด เราก็พบป้ายนี้...
ตลาดน้ำคลองแดน ภายใต้สโลแกน สามลำคลอง สองจังหวัด น่าสนใจทีเดียว จึงเลี้ยวรถเข้าไปดู...
ภูมิทัศน์ เหมาะสำหรับการเป็นตลาดน้ำมากๆ ตลาดน้ำจะมีในช่วงเย็นๆ เรามาถึงเร็วไปหน่อย ชมแค่นี้ยังรู้สึกว่า สวย ชอบเลยนะ ช่วงเย็นๆ คงจะสวยมากทีเดียว
ที่นี่มี 3 คลอง มาบรรจบกัน เป็นเส้นทางไปสู่สามจังหวัด
ชุมชนคลองแดน ที่นี่เป็นชุมชนดั้งเดิมโบราณ ที่เปรียบเสมือนเมืองท่า ที่สมัยก่อนใช้ ลำคลองเป็นเส้นทางหลักในการเดินทาง
อันเนื่องมาจาก มีคลองถึง 3 สาย มาบรรจบกันที่นี่ จึงกลายเป็นชุมชนเมืองท่าริมน้ำ เป็นตลาดกลาง ซื้อขายสินค้าทางการเกษตร ที่รุ่งเรืองมากในยุคนั้น
ยังคงมีร่องรอย ของบ้านเรือน ร้านค้า ที่รุ่งเรืองของยุคนั้น ให้ได้ชมกัน
ในยุคนั้นคนที่อยู่สงขลา จะไปนครศรีฯ จะไปพัทลุง ก็ต้องมาต่อเรือที่นี่ เพราะเป็นเส้นทางที่เดินทางได้เร็วที่สุด ในยุคนั้น
มาเยือนชุมชนคลองแดนวันนี้ ก็ยังมีบรรยากาศเก่าๆ ให้ได้ชมกัน หากมาช่วงเย็นๆ ก็ได้ชมตลาดน้ำคลองแดน ของอร่อยแบบบ้านๆ โบราณ มีให้ซื้อหา ชิมกันด้วย
วันที่เราไปชมในวันนั้น คุณรถเมล์กำลังถ่ายทำ แนะนำชุมชน เพื่อออกในรายการทีวี อยู่พอดี
ร้านค้า เริ่มทะยอย นำของออกมาขาย โดยเฉพาะของกิน ของใช้ พยายามให้ใกล้เคียงกับของในสมัยก่อน ให้มากที่สุด ทำให้ได้บรรยากาศไปอีกแบบ
เอกลักษณ์ของคลองแดนคือภูมิทัศน์ที่มีลำคลองถึง 3 สายมาบรรจบกัน คือคลองระโนด คลองปากพนัง และคลองชะอวด นั่นเอง สัญญาว่า คราวหน้าจะมาเที่ยวช่วงเย็นๆ จะมากินลม ชมวิว อีกครั้ง...
แล้วเราก็มาถึง นครศรีธรรมราช หลังจากเข้าที่พัก พักผ่อนกายา เป็นที่เรียบร้อย ช่วงแดดร่ม ลมตก อากาศกำลังสบายๆ จึงเดินทางมาไหว้องค์พระธาตุ ที่ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือที่ชาวนครศรีฯ เรียกกันว่า วัดพระธาตุ ซึ่ง ศิลปกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในวัดนี้ก็คือ องค์พระบรมธาตุเจดีย์ทรงลังกา ที่อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 และมียอดเป็นทองคำ นั่นเอง
วัดพระธาตุ ถูกเสนอชื่อให้เป็นมรดกโลกแล้ว เป็นเรื่องที่น่ายินดี สำหรับชาวไทย และชาวพุทธ เป็นโอกาสดี ที่ได้มาไหว้องค์พระธาตุ
ขึ้นมาไหว้องค์พระธาตุ บนนี้ก็จะมีพิธีกรรมห่มผ้าองค์พระธาตุ ซึ่งชาวนครศรีฯ เชื่อว่าการได้ห่มผ้าองค์พระธาตุ ที่เป็นเหมือนสัญญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า เท่ากับบูชาต่อหน้าพระพุทธองค์ เท่ากับเป็นการทำบุญ ที่จะได้อานิสงค์มาก นั่นเอง
พิธีกรรมนี้ แสดงให้เห็นว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจพุทธศาสนิกชนทั่วทุกทิศ จึงประสงค์มาห่มผ้าพระธาตุอย่างพร้อมเพรียงกัน มากมาย
ความศรัทธาในพุทธศาสนา ทำให้พุทธศาสนิกชนมีจิตใจแน่วแน่ที่จะบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต นั่นเอง
องค์เจดีย์บริวารมากมาย ที่อยู่รายล้อมองค์พระธาตุ เชื่อกันว่า เป็นเจดีย์ ที่ลูกหลาน บรรพบุรุษ สร้างสืบต่อกันมา
เนื่องจาก เป็นช่วงเทศกาลงานบุญเดือนสิบ ภายในวัด ได้มีการรวบรวม หุ่นจำลองเปรต ลักษณะต่าง ๆ ตามแต่จะก่อกรรมมาเมื่อครั้งดำรงชีวิต ไว้มากมาย เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจไว้สอนลูกหลาน อย่าได้กระทำความชั่ว
ในเทศกาลงานบุญเดือนสืบ เชื่อกันว่า บรรดาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะบุคคลที่ก่อกรรมไม่ดีไว้ เมื่อครั้งยังมีชีวิต เมื่อตายไป จะลงไปชดใช้กรรมในนรกภูมิกลายเป็น "เปรต" นั่นเอง
ณ ตอนนี้ เสมือน เปรต กระจายอยู่เต็มพื้นที่วัด อสูรกายเปรตนี้ เป็นสิ่งเตือนใจ ให้ละความชั่ว กระทำแต่ความดี ได้เป็นอย่างดี
เมื่อถึงเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ นรกภูมิจะพักการลงโทษเปรตเหล่านี้ และปลดปล่อยให้ขึ้นมารับส่วนบุญส่วนกุศล ที่ลูกหลานได้ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ เป็นความเชื่อ ที่เป็นต้นกำเนิด ประเพณีชิงเปรต ในช่วงเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ นั่นเอง