ประเพณีชักพระ..ของคนใต้
โชคดีเราได้มีโอกาส ร่วมงาน "ประเพณีชักพระ" ของคนใต้ หรือทั่วไปเรียกงานนี้ว่าประเพณีลากพระ ก็แล้วแต่จะเรียกกันไป เราได้เก็บภาพบรรยากาศจากเรือพระบ้านเราที่ อ.รัตภูมิ จนกระทั่งเข้าสู่ อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งถือได้ว่า เป็นสถานที่จัดงานประเพณีนี้ ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของภาคใต้ก็ว่าได้ จึงได้มีเรื่องราวและภาพมาฝากเพื่อนๆ ทั้งที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้ ได้ชื่นชมกับประเพณีของคนใต้ร่วมกัน ประเพณีชักพระ เป็นงานบุญที่เกิดจากความเชื่อ จากเรื่องราวทางพุทธประวัติ ที่บอกไว้ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ สรวงสวรรค์ เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จกลับ มายังมนุษย์โลก พุทธศาสนิกชน จึงไปเฝ้ารับเสด็จ โดยนำพระราชรถมารับ จากเรื่องราวดังกล่าว ทุกครั้งที่ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พุทธศาสนิกชนจะร่วมสร้างเรือพระ ซึ่งถูกจำลองว่าเป็นพระราชรถ ไปรับเสด็จโดยอัญเชิญพระพุทธเจ้า ประทับบนบุษบกแล้วแห่แหน ไปตามถนนหนทาง จึงเป็นที่มาของประเพณีชักพระนั่นเอง ประเพณีชักพระ แสดงให้เห็นถึง ความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้าน ในการทำบุญ และร่วมกันลากพระ ทุกครั้งที่มีประเพณีนี้ ชาวบ้านจะร่วมกันชักพระหรือลากพระกันอย่างพร้อมเพรียง บางที่ก็จะนำขบวนกลองยาว มานำหน้า และร่วมแห่แหนกันอย่างสนุกสนาน ทำให้ลืมความเหนื่อย ในการใช้กำลังกาย ลากเรือพระ ในระยะทางไกลๆ ชาวบ้านมีความเชื่อว่า ถ้าใครได้ลากพระจะได้บุญมาก เมื่อเรือพระผ่านหน้าบ้านใคร คนที่อยู่ในบ้านจะออกมาช่วยลากเรือพระ พร้อมร่วมทำบุญ จึงอิ่มบุญกันถ้วนหน้า ที่บริเวณลานสระบัว แหลมสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา จะเป็นจุดรวมใหญ่ของเรือพระ เกือบทุกอำเภอ ซึ่งที่นี่จะทำการประกวดเรือพระทุกปี เรือพระ ที่ชนะการประกวดจะได้รับเงินรางวัลพร้อมถ้วยเกียรติยศ ที่มีมูลค่าเกือบหนึ่งแสนบาทกันเลยทีเดียว ดังนั้นในทุกปี เรือพระที่ส่งเข้าประกวดจะมีความอลังการงานสร้างกันแบบ มโหฬาร ทุกชิ้นงานจะมีความวิจิตร แกะสลักกันอย่างประนีตพิถีพิถัน จนแทบไม่น่าเชื่อว่า นี่คือฝีมืองานช่างท้องถิ่นภาคใต้ โดยเรือพระทุกลำ จะทำเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ และจะนิยมใช้พญานาค เพราะเชื่อว่าจะให้น้ำท่าบริบูรณ์ สำหรับการทำพืชผลทางการเกษตร อย่างไรก็ตาม จากการที่เรือพระต่างๆ ได้นำวัสดุ เช่น โฟม,พลาสติค ฯลฯ มาประกอบเป็นเรือพระ ก็ยังเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ เรื่องความเหมาะสมหรือไม่ หรือจะเป็นการสร้างมลภาวะให้กับโลก หรืออาจทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น ดังนั้นในปีนี้ จึงเกิดเป็นแนวคิด "เรือพระแนวอนุรักษ์" เพื่อร่วมแบ่งเบาสภาวะโลกร้อน ทางคณะกรรมการการตัดสิน จึงได้มีการแบ่งประเภทการประกวดเป็น 2 แบบ คือ เรือพระประเพณีนิยม และเรือพระแนวอนุรักษ์ในปีนี้ จึงมีเรือพระแนวอนุรักษ์ มาให้เห็นมากมายหลายลำ เรือพระแนวอนุรักษ์ก็ยังคงใช้เรื่องราวทางพุทธประวัติ เช่นเดียวกับเรือพระแบบประเพณีนิยม แต่ต่างกันตรงที่วัสดุที่ใช้เท่านั้นเองเรือพระบางลำนำศิลปะขั้นสูง เช่นการแทงหยวก ที่เรามักจะพบเห็นในพิธีการสำคัญๆ มาประยุกค์ประกอบใช้กับเรือพระ ได้อย่างวิจิตรและลงตัว เป็นการเผยแพร่และอนุรักษ์งานช่าง ที่นับวันจะหาช่างมาสืบทอดได้ยากเต็มที อย่างไรก็แล้วแต่ เราก็ขอเป็นส่วนหนึ่งร่วมภาคภูมิใจในประเพณีชักพระ ของคนใต้ ประเพณีที่แฝงไปด้วยสาระของการทำบุญ ความสามัคคีของพุทธศาสนิกชนในการร่วมแรง ร่วมใจทำงานนี้ และถ้ามองให้ลึกลงไปอีก ก็จะพบว่าประเพณีชักพระ จะสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของสังคมเกษตร เพราะคนโบราณเชื่อว่า การสร้างเรือพระโดยมีสัญญลักษณ์ของพญานาค ที่กำลังพ่นน้ำ จะส่งผลให้น้ำท่าในการทำการเกษตรสมบูรณ์นั่นเอง